Q      การวางแผนการเงินส่วนบุคคล คืออะไร มีวิธีและขั้นตอนในการดำเนินการ อย่างไร


 A 

การวางแผนการเงินส่วนบุคคล คือ การบริหารจัดการเงินหรือรายได้ที่ได้มา และใช้เงินนั้นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด และนับเป็นกุญแจสำคัญที่จะนำพาเราไปสู่ความสำเร็จตามเป้าหมายทางการเงินได้

การวางแผนการเงินส่วนบุคคล ประกอบด้วย :
 
1.การวางแผนการลงทุนในหลักทรัพย์
2.การวางแผนภาษี
3.การวางแผนการประกันชีวิต
4.การวางแผนการเกษียณอายุ
 
การวางแผนการลงทุนในหลักทรัพย์ ก่อนที่จะลงทุนในหลักทรัพย์ใดๆ ผู้ลงทุนจะต้องสำรวจตัวเองในเรื่องต่างๆ
ดังต่อไปนี้คือ :

 
1.ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการลงทุน กล่าวคือ ผู้ลงทุนจะต้องมีความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับภาวะและแนวโน้มการลงทุนในตลาดการเงิน ต้องมีความรู้ความเข้าใจการลงทุนในหลักทรัพย์หรือตราสารที่จะลงทุนเช่น หุ้นสามัญ หุ้นกู้ พันธบัตร ตั๋วเงินคลัง กองทุนรวม เป็นต้น ตลอดจนเข้าใจและทราบถึงความเสี่ยงจากการลงทุนในหลักทรัพย์หรือตราสารนั้นๆ ด้วย แล้วจากนั้นจึงประเมินตัวเองดูว่าสามารถยอมรับระดับความเสี่ยงจากการลงทุนได้มากน้อยแค่ไหน ถ้าหากผู้ลงทุนยังไม่มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการลงทุนก็ต้องไปศึกษา ค้นคว้าจนเข้าใจเสียก่อน โดยผู้ลงทุนสามารถไปศึกษาค้นคว้าได้จากหลายๆ ช่องทางเช่น หนังสือเกี่ยวกับการเงินการลงทุน อินเทอร์เน็ต เช่น จากเว็บไซต์ www.set.or.th, www.settrade.com, www.bex.or.th, www.thaibond.com, www.thaimutualfund.com หรือจะไปสอบถามจากผู้รู้ท่านอื่นๆ ก็ได้

2.จุดมุ่งหมายหรือวัตถุประสงค์ในการลงทุน กล่าวคือ ผู้ลงทุนคาดหวังผลตอบแทนมากน้อยแค่ไหนในลักษณะใด ดังต่อไปนี้คือ :-
     
       1) ต้องการทำกำไรจากการลงทุน ผู้ลงทุนที่ต้องการผลลัพธ์จากการลงทุนในรูปแบบนี้ คือผู้ลงทุนสามารถยอมรับความเสี่ยง หรือผลขาดทุนที่อาจเกิดขึ้นในช่วงเวลาในการลงทุนได้หลักทรัพย์หรือตราสารที่จะเลือกลงทุน เช่น หุ้นของกิจการที่เริ่มก่อตั้ง หรือหุ้นของกิจการที่กำลังขยายตัว และมีกำไร แต่ไม่จ่ายปันผล เป็นต้น
       2) ต้องการมีรายได้ประจำจากการลงทุน ผู้ลงทุนที่ต้องการผลลัพธ์จากการลงทุนในรูปแบบนี้ คือผู้ลงทุนที่ต้องการกระแสเงินสดรับอย่างสม่ำเสมอเพื่อนำไปใช้ในการดำรงชีพ หลักทรัพย์หรือตราสารที่จะเลือกลงทุนก็ต้องมีการระบุการจ่ายดอกเบี้ยหรือเงินปันผลแน่นอน เช่น พันธบัตรรัฐบาลเป็นต้น ส่วนระดับของความเสี่ยงก็ขึ้นอยู่กับหลักทรัพย์หรือตราสารที่เลือกลงทุน ซึ่งอาจมีได้ตั้งแต่ระดับต่ำจนถึงระดับสูง
       3) ต้องการให้เงินลงทุนมั่นคง ไม่ลดลง ผู้ลงทุนที่ต้องการผลลัพธ์จากการลงทุนในรูปแบบนี้ คือสามารถยอมรับความเสี่ยงได้ในระดับต่ำ ดังนั้น หลักทรัพย์หรือตราสารที่เลือกลงทุนก็ต้องมีความเสี่ยงต่ำด้วย เช่น ตั๋วเงินคลัง เป็นต้น
       4) ต้องการผลตอบแทนรวม ผู้ลงทุนที่ต้องการผลลัพธ์จากการลงทุนในรูปแบบนี้ คือ สามารถรับความเสี่ยงได้ในระดับกลางๆ ดังนั้น การลงทุนสามารถกระจายหรือผสมผสานกันได้ระหว่างหลักทรัพย์หรือตราสารทั้งสามรูปแบบที่กล่าวมาข้างต้น

3.ข้อจำกัดหรือเงื่อนไขการลงทุน เช่น ผู้ลงทุนต้องการสภาพคล่องในการลงทุนมากน้อยแค่ไหนสามารถลงทุนได้ในระยะสั้นๆ หรือระยะยาว เหล่านี้เป็นต้น
 
หลังจากนั้นจึงดำเนินการจัดสรรเงินลงทุนในสินทรัพย์และตราสารต่างๆ ในแต่ละประเภทตามวัตถุประสงค์หรือเป้าหมายในการลงทุน ตลอดจนระดับความเสี่ยงที่สามารถยอมรับได ้ตามที่ได้สำรวจมาแล้วอย่างรอบคอบก่อนหน้านี้ค่ะ