Q '  เป็นคำถามสืบเนื่องจากครั้งที่ผ่านมา เกี่ยวกับ การวางแผนการเงินส่วนบุคคลว่า คืออะไร มีวิธีและขั้นตอน ในการดำเนินการ อย่างไร


 A 


เราได้ทราบกันไปแล้วว่า การวางแผนการเงินส่วนบุคคลนั้น คือ การบริหารจัดการเงินหรือรายได้ที่ได้มา และใช้เงินนั้นไปให้มีประสิทธิภาพมากที่สุด ซึ่งเป็นกุญแจสำคัญที่จะนำพาเราไปสู่ความสำเร็จตามเป้าหมายทางการเงินได้ การวางแผนการเงินส่วนบุคคล ประกอบด้วย การวางแผนการลงทุนในหลักทรัพย์ การวางแผนภาษี การวางแผนการประกันชีวิต และการวางแผนการเกษียณอายุ

สำหรับการวางแผนการลงทุนในหลักทรัพย์นั้น ได้กล่าวไปในครั้งที่ผ่านมา วันนี้มาดูกันต่อในส่วนของการวางแผนภาษีค่ะ

การวางแผนภาษี :

การวางแผนภาษี เป็นการนำสิทธิประโยชน์ต่างๆทางภาษี ที่กฎหมายให้มา ไปใช้ลดหย่อนภาษีเงินได้ประจำปีเพื่อบรรเทาภาระภาษีที่มีให้ลดน้อยลง โดยสิทธิประโยชน์ทางภาษีที่กฎหมายให้นั้น มีดังต่อไปนี้
 
- หักลดหย่อนบิดามารดา สามารถนำมาหักลดหย่อนได้สูงสุดท่านละ 30,000 บาท โดยที่บิดามารดาต้องมีอายุ 60 ปีขึ้นไป และต้องไม่มีเงินได้พึงประเมินในปีภาษีที่ขอหักลดหย่อน เกิน 30,000 และต้องอยู่ในอุปการะเลี้ยงดูของผู้มีเงินได้

- หักลดหย่อนบุตร กรณีบุตรไม่ศึกษาหรือศึกษาอยู่ต่างประเทศสามารถหักลดหย่อนได้คนละ 15,000 บาท กรณีบุตรกำลังศึกษาอยู่ในประเทศ สามารถหักลดหย่อนได้คนละ 17,000 บาท ทั้งนี้รวมจำนวนบุตรที่สามารถนำมาหักลดหย่อนได้จะต้องไม่เกิน 3 คน

- เบี้ยประกันชีวิต สามารถนำมาหักลดหย่อนได้สูงสุดไม่เกิน 50,000 บาท ทั้งนี้กรมธรรม์ประกันชีวิตต้องมีกำหนดระยะเวลาตั้งแต่ 10 ปีขึ้นไป และได้เอาประกันไว้กับผู้รับประกันที่ประกอบกิจการประกันชีวิตในราชอาณาจักร

- ค่าซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) สามารถนำมาหักลดหย่อนได้สูงสุด 15% ของเงินได้พึงประเมิน และเมื่อรวมเข้ากับเงินสะสมของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพหรือกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการแล้วจะต้องไม่เกิน 300,000 บาท

- ค่าซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF) สามารถนำมาหักลดหย่อนได้สูงสุด 15% ของเงินได้พึงประเมิน แต่ทั้งนี้จะต้องไม่เกิน 300,000 บาท

- ดอกเบี้ยเงินกู้ยืม เพื่อซื้อ เช่าซื้อ หรือสร้างอาคารที่อยู่อาศัย โดยจำนองอาคารที่ซื้อหรือสร้างเป็นประกันในการกู้ยืมนั้น สามารถหักลดหย่อนได้ตามที่จ่ายจริง แต่สูงสุดไม่เกิน 50,000 บาท

- เงินสมทบประกันสังคม หักลดหย่อนได้ตามที่จ่ายจริง (ปีภาษี 2548 หักได้ไม่เกิน 9,000 บาท ตามกฎหมายว่าด้วยการประกันสังคม) เหล่านี้เป็นต้น
 
สามารถศึกษารายละเอียดและเงื่อนไขเพิ่มเติมในแต่ละรายการได้จาก วิธีกรอกแบบแสดงรายการ ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ในแบบ ภ.ง.ด. นั้นๆ ค่ะ

ตัวอย่าง :

เป็นตารางเปรียบเทียบง่ายๆ เพื่อให้เห็นความแตกต่าง ระหว่างการนำสิทธิประโยชน์ในการลดหย่อนที่กล่าวมา ข้างต้นมาใช้สิทธิในการลดหย่อนภาษี กับไม่นำสิทธิประโยชน์ในการลดหย่อนมาใช้สิทธิ ลองมาดูกันว่าจะแตกต่างกันมากน้อยเพียงใดค่ะ 

 

รายการ
ใช้สิทธิลดหย่อนภาษี
ไม่ใช้สิทธิลดหย่อนภาษี
เงินได้พึงประเมิน
1,000,000
1,000,000
หัก
  
ค่าใช้จ่าย (40% ไม่เกิน 60,000 บาท)
60,000
60,000
ลดหย่อนส่วนตัว
30,000
30,000
ลดหย่อนบิดามารดา
60,000
-
เบี้ยประกันชีวิต
50,000
-
ค่าซื้อหน่วยลงทุนเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF)
150,000
-
ค่าซื้อหน่วยลงทุนหุ้นระยะยาว (LTF)
150,000
-
เงินสมทบกองทุนประกันสังคม
9,000
-
เหลือเงินได้สุทธิ
491,000
910,000
ภาษีที่ต้องเสียประกอบด้วย
  
1. ยกเว้นภาษี 100,000 บาทแรก
100,000 x 0 = 0
100,000 x 0 = 0
2. เงินได้ส่วนที่เกิน 1 แสน ถึง 5 แสน
เสียภาษี 10%
391,000 x 10% =39,100
400,000 x 10% =40,000
3. เงินได้ส่วนที่เกิน 5 แสน ถึง 1 ล้านบาท เสียภาษี 20%
0 x 20% = 0
410,000 x 20% =82,000
รวมภาษีที่ต้องเสีย 1+2+3
0 + 39,100+ 0 =39,100
0 + 40,000 + 82,000 =122,000
ภาษีเงินได้ที่สามารถประหยัดได้
122,000 – 39,100 = 82,900

 

จากตาราง จะเห็นได้ว่า หากเราไม่รู้จักนำสิทธิประโยชน์ทางภาษีที่กฎหมายให้ มาใช้ในการลดหย่อนภาษีแล้ว เงินได้ 1 ล้านบาท ต้องเสียภาษีถึง 122,000 บาท แต่หากเรานำสิทธิประโยชน์ที่กฎหมายให้มาใช้ในการลดหย่อนภาษี จะทำให้เราสามารถประหยัดภาษีไปได้ถึง 82,000 บาท เลยทีเดียว จากตัวอย่างที่กล่าวมานี้เป็นการใช้ สิทธิประโยชน์ทางภาษีเพียงบางส่วนเท่านั้น ยังมีสิทธิประโยชน์ในการลดหย่อนภาษีอีกหลายอย่างที่ไม่ได้นำมาใช้ เช่น ดอกเบี้ยเงินกู้ยืม เพื่อซื้อ เช่าซื้อ หรือสร้างอาคารอยู่อาศัย หรือการหักลดหย่อนบุตร เป็นต้น 

อย่างไรก็ดี เนื่องจาก สิทธิประโยชน์ในการลดหย่อนภาษีบางอย่าง อาจนำมาซึ่งภาระค่าใช้จ่ายด้วย ดังนั้นก่อนที่จะตัดสินใจว่าจะเลือกใช้สิทธิประโยชน์ใดมาหักลดหย่อนภาษี ก็ควรศึกษารายละเอียด เงื่อนไขรายการลดหย่อนแต่ละรายการให้เข้าใจเสียก่อน ทั้งนี้ หากท่านใดสนใจสามารถสอบถามรายละเอียดรายการลดหย่อนภาษีเหล่านี้ได้ จากฝ่ายบัญชี ของบริษัทตัวท่านเอง หรือสืบค้นจากเว็บไซต์ของกรมสรรพากรก็ได้ค่ะที่ www.rd.go.th